Assoc.Prof.Sompit Cusripituck รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ : ครูคนแรกผู้บุกเบิกหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ.

ดิฉันเป็นอาจารย์น้องใหม่แขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเมื่อ 7 ปีก่อน(พ.ศ.2551) เข้ามาในช่วงของการเปิดหลักสูตรปริญญาเอก สารสนเทศศาสตร์ มสธ. ซึ่งถือว่าเป็นโชคที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมาดิฉันไม่รู้จักความเป็นมาของสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มสธ.อย่างแท้จริง จนกระทั่งได้พบกับครูคนแรกผู้บุกเบิกแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อาจารย์บอกว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2523 ได้รับการตอบรับด้วยจำนวนนักศึกษามากเกินความคาดหมาย บุคลากรทุกคนจึงต้องรีบเร่งช่วยกันทำงานวิชาการและบริการวิชาการทุกด้านให้เสร็จและจัดส่งให้ถึงมือนักศึกษาทันเวลาเปิดภาคการศึกษา มีศาสตราจารย์ ดร.เอี่ยม ฉายางาม ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ท่านแรก มีคณาจารย์กลุ่มแรกได้แก่ รศ.สมพิศ คูศรีพิทักษ์ รศ.ดร.ยุวดี กาญจนัษฐิติ รศ.ดร.เครือวัลย์ โสภาสรรค์ รศ.มัลลิกา มัสอูดี รศ.ลภา จินตนเสรี รศ.ดร.วิภา ฌาณวังศะ อาจารย์รุ่งธรรม ศุจิธรรมรักษ์ และอาจารย์ศิราพร ฐิตะฐาน
ตามแผนพัฒนาหลักสูตรแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ พ.ศ.2524-2530 รศ.สมพิศ คูศรีพิทักษ์  ได้รับมอบหมายให้พัฒนาหลักสูตร และจัดหาอัตรากำลังอาจารย์นแขนงวิชานี้ในปี พ.ศ.2524 จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแขนงวิชาสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.นวนิตย์ อินทรามะ เป็นประธานกรรมการ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มล.จ้อย นันทิวัชรินทร์ เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิในสหวิทยาการด้านต่างๆอีก 10 ท่าน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ (ในสมัยนั้น) เป็นกรรมการและเลขานุการ จึงไม่ต้องแปลกใจกับภารกิจที่ท่านอาจารย์ต้องทำในยุคนั้น อาจารย์รุ่นต่อมาคืออาจารย์ปัทมาพร (รศ.ดร.ปัทมาพร เย็นบำรุง) ซึ่งต่อมาได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา และอาจารย์ชุติมา (ศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์) ที่โอนย้ายมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จ

การได้มาพบอาจารย์ด้วยการนำพาของกัลยาณมิตร ณ มสธ. ยิ่งทำให้ดิฉันรู้สึกเป็นบุญที่ได้รู้จักที่มาของหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์และเจตจำนงของครูผู้บุกเบิก กว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อเริ่มเป็นหลักสูตรสนเทศศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ และมาเป็นสารสนเทศศาสตร์
ดิฉันได้รับความเมตตาจากอาจารย์ครั้งแรกเมื่อได้มาขอสัมภาษณ์เก็บข้อมูลวิจัยปริญญาเอกเมื่อปี 1990 (พ.ศ. 2533) หลังจากนั้นก็ไม่ได้พบอาจารย์เป็นเวลานาน จนกระทั่งพบอาจารย์ที่งานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และได้ทราบว่าท่านอาจารย์เคยเป็นอาจารย์ มสธ.


ดิฉันเริ่มเข้าทำงานที่สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเมื่อปี พ.ศ.2551 มาด้วยใจที่ใหม่ต่อทุกสิ่ง พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่รู้อดีตความเป็นมา การไม่รู้อดีตของแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์จึงเป็นได้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง จุดอ่อนคือไม่รู้จริงๆว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร เรียนรู้ตามสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ จุดแข็งคือได้ทำในสิ่งที่คิดว่าควรทำ ในการให้คำปรึกษาและดูแลนักศึกษา

มาถึงวันนี้ ดิฉันปลื้มและชื่นชมกับผู้บริหารและคณาจารย์ มสธ.รุ่นบุกเบิกที่วางรากฐานการเรียนการสอนหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์มาตั้งแต่เริ่มต้น จนทำให้มีศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ.จำนวนมากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นกำลังสำคัญของชาติ สมกับสโลแกนที่ว่า มสธ.เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โชคดีที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องราวดีๆของ มสธ.จากท่านอาจารย์ บ่อยครั้งที่เรื่องราวแห่งความสุขเป็นพลังให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ อาจารย์ผู้บุกเบิกหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. ที่ให้ความเมตตาบอกเล่าเรื่องราวให้ดิฉันได้บันทึกไว้และบอกเล่า

เรื่องราวในอดีต อาจารย์เล่าให้ฟังว่าบรรณารักษศาสตร์เมื่อปี 2506 เป็นสาขาขาดแคลน  หลังจากได้เริ่มงานที่ห้องสมุด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ในปี พ.ศ.2515-2516 ได้รับทุนมูลนิธิฟอร์ด ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และกลับมาทำงานที่ห้องสมุดนิด้า ในยุคที่ รศ.ดร.นวนิตย์ อินทรามาระ เป็นผู้อำนวยการห้องสมุด ในยุคนั้นฝ่ายห้องสมุด ได้รับการปรับฐานะเทียบเท่าคณะ เป็นสำนักบรรณสารการพัฒนา ต่อมา รศ.สมพิศได้ย้ายมาช่วยราชการที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในปีพ.ศ.2522-2523

ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในห้องสมุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาห้องสมุดโดยเชิญผู้อำนวยการห้องสมุดไปประชุมเพื่อจัดตั้งศูนย์บรรณานุกรมแห่งชาติในปีพ.ศ.2526 เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ในการยืมระหว่างห้องสมุด(Interlibrary loan) และได้มีการจัดสรรงบประมาณให้ห้องสมุดมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในห้องสมุดตามโครงการที่เรียกว่า UNI-Thai โดยมีหัวหน้าทีมคือ รศ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ ในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นปลัดทบวมหาวิทยาลัย ส่วนการซื้อคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นต้องซื้อผ่านการดำเนินงานของสำนักสถิติแห่งชาติ

ด้านการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชน ที่เน้นการศึกษานอกห้องเรียน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เน้นการจัดหาหนังสือดีเข้าห้องสมุด และได้รับการสนับสนุนจากองค์การต่างประเทศ

ท่านอาจารย์ได้ฝากข้อคิดไว้ว่าบรรณารักษ์และผู้ประกอบวิชาชีพสารสนเทศในห้องสมุดต้องสามัคคีกัน ช่วยกันพัฒนาวิชาชีพ ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนคือ บรรณารักษ์ไม่ได้บริหารงานห้องสมุดให้เป็นวิชาชีพ ที่ต้องเขียนไว้ในพระราชบัญญัติ การพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของพลเมืองอย่างแท้จริงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคนให้รักการอ่าน รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาชาติ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสมาชมบ้านริมน้ำที่สวยงามมาก และกรุณาแบ่งปันพืชผักสวนครัวมาให้ทาน


ขอบคุณกัลยาณมิตรชาว มสธ.ที่ดูแลดิฉันเสมอเมื่อต้องการ และยอมเป็นเพื่อนอาจารย์ในหลายภารกิจที่ต้องทำเพื่อชาติ

Version 1 บันทึกไว้ในเบื้องต้น

Comments