รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ ประเสริฐวงษ์ เรพเพอร์ อาจารย์ผู้พัฒนาคนและเป็นต้นแบบของความเป็นครู (Assoc.Prof.Dr.Pimonpan Prasertwong Raper)

อาจารย์บอกว่า"กล้าพูดเลยว่าเพราะเรียนจบบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และเรียนวิจัยที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า-บลูมมิงตัน สหรัฐอเมริกา ที่สอนให้คิดเป็น อ่านเป็น วิจารณ์วรรณกรรมเป็น" และ "ไม่หวงความรู้ ยิ่งลูกศิษย์รู้มากกว่า เขายิ่งช่วยสังคมได้มาก" แม้ดิฉันจะรู้จักรองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ ประเสริฐวงษ์ เรพเพอร์ ไม่มากและไม่นาน อาจเป็นเพราะบุคลิกภาพและคำพูดของท่านที่ตรงไปตรงมา ความเมตตาที่ดิฉันสัมผัสได้ ทำให้ดิฉันกล้าถามและกล้าปรึกษาทุกเรื่องทางวิชาการแม้ไม่เคยร่วมงานกันและพบกันในช่วงเวลาน้อยนิด อาจารย์สอนดิฉันว่าเวลาพิจารณาผลงานใครต้องคิดเสมอว่าวันหนึ่งเขาต้องมาเป็นผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพที่จะประเมินคนอื่นต่อไป เขามีคุณสมบัตินั้นหรือไม่

อาจารย์เป็นครูของหลายๆคนในแวดวงวิชาชีพและอีกหลายอาชีพ ดิฉันเพิ่งทราบว่า รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ ประเสริฐวงษ์ เรพเพอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เพราะอาจารย์เป็นทั้งผู้สอนภาษาอังกฤษ และสอนด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ อาจารย์เล่าให้ฟังว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ มศว.บางแสน วิชาเอกภาษาอังกฤษและชีววิทยา และเป็นอาจารย์ที่บางแสน ก่อนที่จะได้ทุนฟุลไบรท์ในช่วงปี ค.ศ.1963-1964ไปเรียนปริญญาโท สาขาศึกษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะลาออกติดตามสามีไปอยู่สหรัฐอเมริกา ในช่วงที่อยู่สหรัฐอเมริกาจึงได้ไปเรียนสาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยทุนส่วนตัวเพราะคิดว่าน่าจะสนุก เพราะเห็นเขาเรียนเกี่ยวกับหนังสือเด็กและวรรณกรรมทุกอย่างในช่วงนั้น จึงทำให้ต้องอ่านมากจนกระทั่งสามารถวิจารณ์วรรณกรรมได้ และได้ฝึกทำงานในห้องสมุดประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนเป็น Work Study ของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า บลูมมิงตัน

ก่อนไปเรียนปริญญาเอกทางสารสนเทศศาสตร์ โดยได้ทุนมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน สหรัฐอเมริกา(ในฐานะผู้ช่วยสอนและทุนการเขียนดุษฎีนิพนธ์จากกลุ่มสตรีแห่งเท็กซัส) และทุนการเดินทางจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในการอนุมัติให้ลาเรียน ท่านอาจารย์พิมลพรรณไปเรียนระยะสั้นด้านสารสนเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สหราชอาณาจักร ท่านอาจารย์จึงเป็นผู้บุกเบิกการเปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีความเข้มแข็งผลิตบัณฑิตที่มีบทบาทสำคัญทางวิชาการและวิชาชีพมากมาย โดยผู้เรียนในรุ่นแรกๆได้พาไปศึกษาดูงานในห้องสมุดต่างประเทศด้วยโดยออกค่าใช้จ่ายกันเอง

อาจารย์เป็นผู้เขียนตำราหลายเล่มของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอาจารย์และผู้บริหารในหลายมหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

การสร้างคนคุณภาพหลายรุ่นมาพัฒนาชาตินั้นเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ อาจารย์ได้ให้ข้อคิดว่า การสร้างความตระหนักให้คนในสังคมรู้ว่าห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในสังคม ทำให้คนเป็นคนฉลาด และเป็นคนโดยสมบูรณ์

ดิฉันโชคดีที่ท่านอาจารย์ให้ความเมตตากรุณารับเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและประธานสอบดุษฎีนิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอก สารสนเทศศาสตร์ มสธ.รุ่นแรก และรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น คำแนะนำและข้อเสนอแนะของอาจารย์ล้วนเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขให้ผลงานดียิ่งขึ้นกว่าเดิม  เป็นบุญและโชคดีที่ได้รู้จักท่านอาจารย์ กราบขอบพระคุณค่ะ ครูผู้เป็นต้นแบบของความเป็นครู





บันทึกความประทับใจไว้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง




Comments