รองศาสตราจารย์ แม่ชี ศรีทอง สีหาพงศ์ : คุณครูสอนว่า การรู้จักครูที่ดีมีความสำคัญยิ่ง

วันที่ 23 สิงหาคม 2557 ดิฉันและเพื่อนๆได้นัดเจอกันเพื่อไปกราบคารวะอาจารย์ที่เคยสอนที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.2521 ที่พวกเราเป็นนักศึกษาปี 1 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ หลังจากนั้นเมื่อท่านอาจารย์เกษียณอายุราชการ ก็มีโอกาสน้อยนักที่จะได้พบ และทราบว่าท่านอาจารย์สนใจปฎิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดเป็น รองศาสตราจารย์ แม่ชี ศรีทอง สีหาพงศ์
กว่าจะนัดเพื่อนร่วมรุ่นได้ ก็ใช้เวลาพอสมควร เมื่อดิฉันได้เจอผศ.ดร.นิรันดร์ กุลฑานันท์ ในวันสอบโครงการดุษฎีนิพนธ์ของนักศึกษา มสธ. ดร.นิรันดร์บอกว่านัดเพื่อนๆไปสัมภาษณ์อาจารย์กันเถอะ มีคุณตู่ อรุโณทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายโทรศัพท์สาธารณะ บริษัทTrue เคยไปร่วมทำบุญและมอบทุนการศึกษากับท่านอาจารย์ที่สำนักปฏิบัติธรรมสุริยวงศ์ ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่สามารถพาพวกเราไปได้ ภารกิจจึงเริ่มขึ้นด้วยการสื่อสารผ่าน LINE ว่านัดเจอกันและไปทำบุญกันเถอะ ในที่สุดก็นัดได้วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2557 จุดนัดพบคือหน้าสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำงานของคุณหน่อง นภาลัย เพื่อนร่วมรุ่น
เช้าวันนั้น ทุกคนตื่นเต้นที่ได้เจอกัน ที่ผ่านมาต่างคนต่างอาจเจอกันโดยบังเอิญ วันนี้เป็นวันที่มีความสุขที่ได้นัดเจอจาก 32 ปีที่เรียนจบปริญญาตรี ต่างคนต่างไปทำหน้าที่ตามภารกิจของตัวเองและครอบครัว
เพื่อนก็คือเพื่อน ความทรงจำ 4 ปีที่เรียนมาด้วยกันยังไม่เคยลืมเลือน
เมื่อพร้อมกันที่หน้าสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณหน่อง นภาลัย เจ้าของบ้านที่รักห้องสมุดเป็นชีวิตจิตใจจึงเชิญชวนให้พวกเราทุกคนมาชมห้องสมุดแสนสวยด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อนบางคนไม่ได้ทำงานห้องสมุดตั้งแต่เรียนจบมา คุณหน่องก็ไม่ย่อท้อยังพยายามชี้นำให้ชมทุกมุมสวยของห้องสมุด รวมถึงห้องสมุดในสวน จนเพื่อนบอกว่า สมัยเราเรียนไม่มีอย่างนี้เลยนะ ดีจัง ดี๊ดี
แล้วเราก็เริ่มเดินทางไป อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยใช้เส้นทางไปคลอง 10 ไป อำเภอหนองเสือ เมื่อถึงแยกเลี้ยวซ้ายเข้า สภ.หนองเสือ ระยะทาง 23 กิโลเมตรจากปากทาง

จากปากซอยขับรถไป 23 กิโลเมตรถึงที่ว่าการอำเภอหนองเสือ แล้วขับไปต่ออีก 14 กิโลเมตร ถึงวัดเจริญบุญ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตรถึงบ้านอาจารย์
เมื่อเลี้ยวขวาจากแยกวัดเจริญบุญ ขับรถไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสะพานไม่ต้องขึ้นสะพาน
ให้เลี้ยวซ้ายที่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพบึงกาสาม
ขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยกคลองส่งน้ำที่ 11 ให้เลี้ยวซ้ายที่บ้านหลังสีฟ้า
จากบ้านหลังสีฟ้าเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร
ขับไปจนสุดทางจะพบบ้านอาจารย์ รศ.แม่ชี ศรีทอง ค่ะ
ในที่สุดรถ 2 คันกับพวกเรา 7 ชีวิตก็มาถึงสำนักปฏิบัติธรรมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นบ้านของท่าน แม่ชี รศ.ศรีทอง สีหาพงศ์ เลขที่ 21/2 หมู่ 1 บ้านคลองสิบเอ็ด ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี 12170
บรรยากาศที่ร่มรื่น และสงบ

พวกเราทุกคนจึงได้เข้าไปกราบคารวะอาจารย์ ปีนี้ท่านอายุ 90 ปี ยังแข็งแรงตามวัย
พวกเราเป็นตัวแทนของเพื่อนๆในรุ่นถวายอาหารเพลและปัจจัยแก่อาจารย์แม่ชี
หลังจากอาจารย์แม่ชีฉันอาหารเพลแล้ว ได้พากันไปยังศาลาเพื่อไหว้พระและฟังธรรมะ ฟังเรื่องราวในอดีตจากท่านอาจารย์

ประวัติรองศาสตราจารย์ศรีทอง สีหาพงศ์

ท่านอาจารย์เล่าว่าเมื่อ
ปี 2492 ท่านรับราชการที่วิทยาลัยครูประถมชายหรือราชภัฏพระนคร ในปี 2493 ได้เข้าเป็นนักศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ท่านย้ำว่าไม่ใช่นิสิต) เป็นนักศึกษาต้องศึกษาค้นคว้า เรียนเอง แล้วไปเข้าสอบ จบอักษรศาสตร์จุฬาฯอีก 2 ปีต่อมา

ปี 2498 ได้รับทุนประสานมิตร ไปเรียนปริญญาโทด้านบรรณารักษศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาในปี 2501 เรียนจบพร้อมอาจารย์จิตรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อกลับมาประสานมิตรได้ส่งให้ไปช่วยราชการที่ มศว.บางแสน(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบูรพา)

ปี 2501 มีภารกิจให้มาจัดตั้งหอสมุด มศว.บางแสน แต่ผู้บริหารไม่เห็นความจำเป็นในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง จึงให้มาสอนภาษาอังกฤษ แต่อาจารย์ขอมาจัดตั้งห้องสมุดในปี 2501-2505

ปี 2506 ได้ย้ายจากบางแสนไปเป็นศึกษานิเทศก์ กระทรวงศึกษาธิการ ให้คำแนะนำในการจัดตั้งห้องสมุด ต้องเดินทางไปจังหวัดต่างๆทั่วประเทศที่มีวิทยาลัยครู และได้ริเริ่มการเขียนแผนงานห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยว่าห้องสมุดควรมีการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

ปี 2514 ได้ย้ายมามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้งพร้อมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะนั้นยังไม่มีหอสมุดกลาง

ปี 2515 ได้พยายามก่อตั้งหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้เวลา 7 ปีในขณะนั้นมีเพียงห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งยังไม่มีระเบียบใดๆในการทำงานที่ถูกหลักสากล ท่านอาจารย์เป็นหัวหน้าห้องสมุด มีอาจารย์เฉลียว (รศ. เฉลียว พันธุ์สีดาเป็นบรรณารักษ์ในสมัยนั้น) ต่อมาอาจารย์เฉลียวได้ไปเรียนต่อ

ปี 2518 ได้จัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ด้วยความยากลำบาก เพราะมีผู้บริหารบางคนไม่เห็นความสำคัญ จึงได้รับมอบหมายจากอธิการบดีในสมัยนั้นให้มาเสนอเองในการประชุมของส่วนกลาง จึงได้รับอนุมัติให้จัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นมีภาควิชาภาษาอังกฤษ สอนวิชาพื้นฐานให้แก่คณะต่างๆ โดยมีการเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 1 คือรุ่น รศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข และ รศ.ดร.ลำปาง แม่นมาตย์ และนักศึกษาเก่งๆอีกหลายคน

ปี 2520 ท่านได้ย้ายสังกัดจากหอสมุดกลางมาสังกัดภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ เมื่อภาควิชามีอาจารย์ที่ย้ายมาจากหอสมุดกลาง ส่วนหอสมุดกลาง มข.มีอาจารย์อภัย ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาปฏิบัติงาน

อีกไม่กี่ปีท่านก็เกษียณอายุราชการ และมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม


ด้านการปฏิบัติธรรม ท่านสอนว่า

ในการฝึกหัดและปฏิบัติธรรม การรู้จักครูที่ดี มีความสำคัญมาก มิฉะนั้นเราก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้น การปฏิบัติธรรมะมีหลายทาง ทางตรงคือสายของหลวงปู่มั่น ไม่ยึดมั่นในตัวเราของเรา คือต้องถอน อัตตานุทิฏฐิ ออกจากตัวตนของเรา ให้รู้จักแยกร่างกายออกเป็นส่วนๆแล้วพิจารณา ร่างกาย 32 อย่าง แยกออกไป ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่เป็นอนัตตา เธอจงมีสติทุกเมื่อ อาจารย์บอก ถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย มองโลกเป็นสิ่งว่าง ให้มองตัวเรานั้นเป็นธรรมชาติ

 เรามีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา จะละเว้นความแก่ เจ็บ ตายไปไม่ได้ นิพพานอยู่ที่ใจ ให้จิตรู้สภาวะกายและใจตามความเป็นจริง ท่านได้อธิบายถึงทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง ละอัตตาเสีย ที่ท่านฝากมาให้พวกเราอ่านคือหนังสือเล่มนี้



หนังสือชื่อ ศิริมานนทสูตร ท่านบอกให้ลองอ่านดูและแบ่งปันกันอ่าน ถ้าไม่เข้าใจก็อ่านซ้ำหลายรอบ ก็คงจะเข้าใจ

อาจารย์แม่ชีท่านย้ำว่า ให้รู้จักปลงซะ ปล่อยวาง จะทำให้เกิดปัญญาเกิดความรู้ว่า กิจสำคัญในชีวิตได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนั้น ครูที่ดีจึงมีความสำคัญมาก 

จึงขอขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ได้ทำบุญร่วมกัน ขอบคุณคุณตู่ อรุโณทัยที่เคยบอกเล่าเรื่องราวดีๆผ่านเว็บบล็อกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ด้วยความกตัญญูในฐานะศิษย์ ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่ส่งกำลังใจมายังพวกเรา ด้วยความศรัทธาว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราจะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีและนำหลักธรรมมาฝึกปฏิบัติกันต่อไป

หมายเหตุ: ในเดือนธันวาคม 2561 ท่านอาจารย์แม่ชีได้ย้ายไปอยู่จังหวัดอุบลราชธานี

Comments