Professor Jaruwan Sinthusopon ศาสตราจารย์จารุวรรณ สินธุโสภณ : เติบโตได้เพราะครู ให้ทางเดินชีวิต

ศาสตราจารย์จารุวรรณ สินธุโสภณ ให้ข้อคิดว่า ต้องรักในวิชาชีพ
อาจารย์เป็นผู้เขียนตำรารุ่นแรกๆเรื่องหลักการบริหารและจัดการห้องสมุด

ดิฉันอาจไม่ใช่ศิษย์โดยตรงของอาจารย์ แต่มีโอกาสได้พบอาจารย์ในช่วงที่มีการเตรียมเปิดหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้อำนวยการสำนักหอสมุดในสมัยนั้น ภายหลังการประชุม ศาสตราจารย์จารุวรรณ สินธุโสภณได้เขียนข้อความในกระดาษแล้วยื่นให้ดิฉัน ดิฉันยิ้มด้วยความขอบคุณและเก็บความประทับใจในอาจารย์มานับตั้งแต่วันนั้น ไม่เคยลืม

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560 ดิฉันและรองศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ ศราวณะวงศ์ได้มีโอกาสไปพบศาสตราจารย์จารุวรรณ สินธุโสภณ ในวัย 84 ปีที่ยังแข็งแรง มีรอยยิ้มที่สดใสตลอดเวลา จริงๆแล้วนัดหมายไปพร้อมกับศิษย์เก่าตัวจริงคือ ดร.มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ
อาจารย์เล่าให้ฟังว่าอาจารย์เกิดวันพฤหัสบดี ที่เติบโตมาได้เพราะมีครูแนะทางเดินชีวิตมาโดยตลอด เริ่มจากจบ ม.8 โรงเรียนสตรีวิทยา ได้ที่ 1 ของประเทศไทย ตอนเป็นนักเรียนมีความฝันอยากเป็นหมอ แต่สุขภาพไม่ค่อยดี ถ้าไม่เป็นหมอก็จะเรียนบัญชี และอยากเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีวิทยาท่านแนะนำให้เรียนเตรียมอักษร เพราะภาษาดี จึงได้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2494 โดยในปี 3-4 ได้เลือกวิชาเอกด้านภาษาอังกฤษ-ภาษาฝรั่งเศส เรียนจบปี 4 เมื่อปี 2497 ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม เมื่อเรียนจบได้นัดกับเพื่อนจะออกไปหางานทำในบริษัทฝรั่งเพื่อที่จะได้ใช้ภาษาต่างประเทศ
คงเป็นเพราะเป็นเด็กเรียบร้อย อยู่ในสายตาครูบาอาจารย์มาตลอด ตอนสอบไล่ปี 4 ท่านอาจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ ได้มายืนรอหน้าห้องสอบที่ระเบียงตึกอักษรศาสตร์และถามว่า เธอสนใจเป็นอาจารย์ที่คณะไหม คณะอักษรศาสตร์กำลังเตรียมเปิดภาควิชาบรรณาณารักษศาสตร์ ตึกใหม่ก็กำลังจะเสร็จ และจะเป็นตึกหอสมุดกลาง จุฬาฯด้วย เธอสนใจไหม

ณ วันนั้น ศาสตราจารย์จารุวรรณก็ไม่เข้าใจ "มันคืออะไรก็ไม่รู้ บรรณารักษศาสตร์" ท่านอาจารย์สุทธิลักษณ์เล่าว่าจะเปิดสอนวิชาใหม่ เป็นโอกาสดีที่มีโอกาสก้าวหน้า ขอให้มาทำงานเพื่อสร้างหอสมุดกลาง จุฬาฯ ในปลายปี 2497 ศาสตราจารย์จารุวรรณตอบตกลง เพราะคิดว่าเราจะได้ทำงานกับอาจารย์ของเรา เรียนรู้จากท่าน โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษาคุณแม่

ในระยะแรกที่สอนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ อาจารย์ได้สอนภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สอนได้ 2 ปี ปีที่ 3 ได้เรียนหลักสูตรอนุปริญญาบรรณารักษศาสตร์เป็นรุ่นที่ 2 เป็นหลักสูตร 1 ปี โดยมีท่านอาจารย์สุทธิลักษณ์ เป็นผู้สอน  มีศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต อาจารย์อุทัย ทุติยโพธิ และอาจารย์รัญจวน อินทนกำแหง เป็นอาจารย์พิเศษ มาสอน ต่อมามีชาวอเมริกันจากทุนฟูลไบรท์มาช่วยจัดตั้งแผนก Reference ที่หอสมุด จุฬาฯ ศาสตราจารย์จารุวรรณได้ช่วยดูแลแขกชาวอเมริกัน และต่อมาอาจารย์ได้รับทุนจาก Asia Foundation ให้ไปเรียนต่อปริญญาโท 2 ปีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา อาจารย์กลับมาเป็นอาจารย์ จนกระทั่งลาออกมาทำธุรกิจของครอบครัว

ในระหว่างที่ทำงานของครอบครัวอยู่นั้น เพื่อนรักที่เคยเรียนมาด้วยกันได้พัฒนาหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาจารย์จิตรา อาจารย์ทองหยด)ได้ชวนให้มามีส่วนร่วมในการเปิดภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากมีวุฒิการศึกษาตรง จึงได้มาเริ่มงานที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับจากวันนั้น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้บ้านในสมัยนั้น โดยมีศิษย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มธ.รุ่นแรก ได้แก่ ดร.เพ็ญศรี ก๊วยสุวรรณ อาจารย์จุรี อุศุภรัตน์ นวลฉวี และจุรีรัตน์ เป็นต้น
ศาสตราจารย์จารุวรรณ สินธุโสภณ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และผลิตลูกศิษย์ที่มีบทบาทสำคัญในสาขาบรรณารักษศาสตร์ จำนวนมาก


ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ให้โอกาสมาพบและพูดคุย ให้ความกรุณาเลี้ยงอาหารกลางวันและอร่อย และนำชมหอพักทันสมัย 3J Courts เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

Comments